วันอาทิตย์ที่ 11 กันยายน พ.ศ. 2554

การทอเสื่อ



“ กก ” จัดเป็นพืชเส้นใย ปลูกและเจริญงอกงามได้ดีในประเทศไทย มีพันธุ์ต่างๆ
ได้แก่ กกจันทบูร กกกลม กกลังกา กกสามเหลี่ยม เป็นต้น
“ กกจันทบูร ” เป็นกกที่มีลักษณะต้นกลมเรียว ส่วนปลายใกล้ๆ กับดอกเท่านั้นที่เป็นสามเหลี่ยม
ผิวสีเขียวแก่ข้างในลำต้นมีเนื้อสีขาวอ่อน โคนต้นวัดโดยรอบประมาณ 1 – 2 เซนติเมตร
สูงประมาณ 150 – 180 เซนติเมตร รากมีลักษณะเป็นเหง้าคล้ายข่า ขึ้นเป็นกอ
กอละประมาณ 6 – 7 ต้น หรืออาจจะมากกว่านั้น แล้วแต่ขนาดของแต่ละกอ
ขยายพันธุ์ด้วยหน่อที่เกิดจากรากเหง้า กกจันทบูร มีผิวอ่อนนุ่ม เป็นมัน เหนียวไม่กรอบ
เมื่อทำเป็นผืนเสื่อแล้ว นำไปขัดถูก็จะเป็นมันยิ่งขึ้น จึงมีความเหมาะสม
และนิยมใช้มาทอเป็นผืนเสื่อกันมาก กกจันทบูร

การเก็บเกี่ยว
1 ระยะเวลาเก็บเกี่ยว เมื่อต้นกกที่ดำใหม่มีอายุได้ประมาณ 120 – 150 วัน ก็ตัดได้ หรือเมื่อพอกกนั้นแก่พอตัวแล้ว สังเกตได้คือ กกมีดอกออกสีจะเหลือง โดยมากมักจะตัดกกกันในช่วงปลายฤดูฝน ความยาวของต้นกกนั้นจะยาวที่สุดประมาณ 220 เซนติเมตร 2 การตัดกก ใช้มีดขอบางๆ ที่เรียกว่า “ เคียวตัดกก ” เกี่ยวให้ต้นกกขาดเพียงหน้าดิน ใช้แขนโอบแล้วเกี่ยวเมื่อได้หนึ่งโอบแขน กระทุ้ง โคนให้เสมอกัน ใช้มือจับปลายต้นกกกะระยะจากโคนต้นประมาณ 1 เมตร สลัดหญ้าต้นกกที่แห้งหรือต้นที่เน่าทิ้งไป แยกวางไว้เป็นกอง กองหนึ่ง ประมาณเกือบวงโอบแขน เมื่อจะนำขึ้นจากนาก็จัดการมัดตามที่กองไว้ และแบกขนขึ้นจากนา 3 การสลัดกก เป็นการจัดแยกขนาดตามความยาวของต้นกก การสลัดจะเอาต้นที่ยาวออกจากมัดกก แล้วสลัดเอาที่ยาวลดหลั่นกันลงไป เป็นคั่นๆ นับตั้งแต่ 10 คืบ ลงมาจนถึง 5 คืบ (คืบหนึ่งยาวประมาณ 20 เซนติเมตร) แล้วมัดไว้ตามขนาดต่างๆ ตัดดอกกกทิ้ แล้วนำไปจักเป็นเส้นกก
การย้อมสีกก
1 การหล่อนกก เป็นการมัดกกเป็นกำๆ ก่อนการย้อม ภาษาพื้นบ้านเรียกว่า “ หล่อนกก ” คำนี้อาจจะเป็นภาษาญวนก็ได้ (เพราะการทำเสื่อนี้เริ่มมาจากญวนที่มาตั้งถิ่นฐานในจันทบุรี การมัดกกนี้มัดเป็นกำทางปลายของเส้นกกห่างจากสุดปลายประมาณ 1 นิ้วฟุต ความโตของกำเส้นผ่านศูนย์กลางประมาณ 1 นิ้วฟุตเหมือนกัน ก่อนมัดต้องกระทุ้งโคนกกให้ปลายเสมอกัน เมื่อมัดแล้วให้สลัดเส้นกกที่ ไม่ถูกมัดออก แล้วเก็บรวบรวมมัดอีกเป็นกกขนาดสั้นต่อไป 2 การแช่น้ำ ก่อนที่จะทำการย้อมต้องนำกกที่หล่อน (มัด) ไปแช่น้ำให้ท่วมกก ใช้เวลาประมาณ 10 – 12 ชั่วโมง ทั้งนี้เพื่อให้เส้นกกบานเต็มที่ เมื่อเวลาเอาลงย้อมสีจะได้ติดทั่วถึงทั้งเส้นกก เมื่อแช่น้ำได้ตามเวลาสมควรแล้ว นำมายังเตาย้อม ที่ตั้งน้ำก่อไฟไว้ แล้ว หม้อที่จะใช้ย้อมสีกกนั้นต้องเป็นภาชนะปากกว้างๆ สะดวกแก่การเอากกลงไปย้อม ภาชนะที่นิยมใช้กันมากคือ กาละมังอลูมิเนียมขนาดใหญ่ หรืออาจจะใช้ปีบน้ำมันพืชเปิดปากทางนอน เวลาย้อมจะใช้สักกี่หม้อก็ย่อมได้ ตามแต่ต้องการของผู้ย้อม 3 การใช้สี สีที่ใช้ในการย้อมนั้น ต้องเป็นสีย้อมแพรหรือสีย้อมหนัง เพราะผิวของกกมีลักษณะมันเหมือนแพรหรือหนัง ถ้าหากใช้สีย้อมด้ายไม่ได้ผลเท่าที่ควร มีขายตามท้องตลาดทั่วไป ราคาขาย 350 – 600 บาท ต่อกิโลกรัม แล้วแต่ชนิดของสีว่าเป็นสีอะไร สีเหลืองอ่อนมีราคาถูกกว่าสีอื่น 3.1ชนิดของสี มีหลายสีด้วยกัน เช่น สีเหลืองอ่อน สีเหลืองแก่ สีม่วง สีน้ำเงิน สีแดง สีเขียวใบไม้ สีชมพู สีดำ 3.2 การผสมสี 1) สีเหลืองอ่อน ,สีเหลืองแก่ ,สีม่วง ,สีน้ำเงิน ,สีชมพู สีเหล่านี้จะเป็นไปตามลักษณะสีไม่ต้องผสม 2) สีแดง ต้องใช้สีแดง , ส่วนผสมกับสีเหลืองแก่ 2 ส่วน ถ้าใช้สีแดงอย่างเดียว จะออกเป็นสีบานเย็น 3) สีเขียวใบไม้ ใช้สีเขียวใบไม้ 1 ส่วน ผสมกับสีเหลืองอ่อน 2 ส่วน จะเป็นสีเขียวใบไม้อ่อน ถ้าผสมเท่ากัน เป็นสีเขียวใบไม้แก่ ถ้าผสมสีเหลืองแก่ จะกล้ายเป็นสีขี้ม้า 4) สีดำ ใช้ผสมกันหลายสีคือ สีเขียว 1 ส่วน สีแดง 1 ส่วน เหลืองแก่ 2 ส่วน การย้อมสีดำนี้ เส้นกกจะจับสียาก จะต้องเอาเส้นกกแช่สีในน้ำเดือดนานกว่าสีอื่น ถ้าต้องการให้เส้นกกจับสีเร็วเวลาผสมสีใช้สีม่วงผสมเล็กน้อย ปัจจุบัน เพื่อความสะดวกสบายแก่ผู้ใช้บางร้านก็มีสีที่ผสมแล้วจำหน่าย 4 วิธีการย้อม เมื่อเห็นว่าน้ำเดือดแล้ว ตักสีที่ต้องการใส่ลงในน้ำเดือดในอัตราส่วน 1 ช้อน กาแฟต่อกก 1 กำ เอากกที่แช่น้ำ แล้วลงในหม้อที่ย้อมจะมากน้อยตามแต่ความกว้างใหญ่ของหม้อ ระวังอย่าให้แน่นนัก สีจะจับกกไม่ทั่วถึง เวลาเอากกลงในหม้อ น้ำจะหยุดเดือด เมื่อน้ำเดือดก็พลิกกก เติมสี เติมน้ำเล็กน้อย เมื่อน้ำเดือดอีกครั้ง ให้แช่กกในน้ำเดือดสักพักหนึ่งก่อนที่จะเอากกออกจากหม้อย้อม ผู้ย้อมต้องสังเกตด้วย สีจับเส้นกกทั่วถึงหรือไม่ก่อนเอาออกจากหม้อ เมื่อนำกกออกจากหม้อแล้วเติมน้ำให้ปริมาณคงเดิม ใส่สีแล้วทำ ตามขั้นตอนเดิม นำกกที่ย้อมแล้วไปตากบนราวไม้ไผ่โดยแยกกำกกเป็น 2 ส่วน แขวนไว้บนราวกลางแจ้ง ประมาณ 1 วันก็จะแห้งสนิทดี ถ้าต้องการจะย้อมสีต่างๆ ในหม้อเดียวกันโดยไม่ต้องเปลี่ยนน้ำในหม้อแล้วจะต้องเรียงสีที่ต้องการเอาไว้ เป็นต้นว่า ย้อมสีเหลืองอ่อนแล้ว ย้อมสีเหลืองแก่ สีแดง สีดำ ตามลำดับ โดยไม่ต้องเปลี่ยนน้ำในหม้อเลย การเรียงสี มีดังนี้ 4.1 เหลืองอ่อน – เหลืองแก่ - แดง – ดำ 4.2 เหลืองอ่อน – แดง – ดำ 4.3 เหลืองอ่อน – ดำ 4.4 เหลืองแก่ – แดง - ดำ 4.5 ม่วง – ดำ 4.6 แดง – ดำ 4.7 เขียว – ดำ 4.8 ชมพู – ดำ 4.9 ชมพู – แดง นอกจากสีที่เรียงลำดับไว้นี้ จะเปลี่ยนสีต้องเปลี่ยนน้ำในหม้อใหม่ทุกครั้ง หรือต้องมีหม้อใหม่อีกหม้อหนึ่งต่างหาก